เส้นเลือดขอด........ภัยร้ายที่ไม่ใช่แค่ความสวยงาม

วันที่ October 28, 2019

เส้นเลือดขอด.........ภัยร้ายที่ไม่ใช่แค่ความสวยงาม

บทความโดย.......นพ.อภิชาติ งานรุ่งเรือง

ศัลยแพทย์หลอดเลือดโรงพยาบาลกรุงเทพ อุดร

                โดยทั่วไปแล้วนั้น หากเรากล่าวถึงเส้นเลือดขอด หลายๆท่านคงมุ่งประเด็นของการรักษาเส้นเลือดขอด ไปที่ความสวยงามของขาทั้งสองข้าง แต่แท้ที่จริงแล้วนั้น เส้นเลือดขอด (Varicose vein) เป็นความผิดปกติของหลอดเลือดดำบริเวณใกล้ชั้นผิวหนังที่ขยายตัวมากขึ้นมักเป็นที่ขาหรือเท้า โดยเส้นเลือดขอดนั้นเป็นหนึ่งในกลุ่มอาการของภาวะเส้นเลือดดำที่ขาทำงานผิดปกติ (Chronic venous insufficiency) กล่าวคือ ลิ้นกักเลือดของเส้นเลือดดำไม่สามารถกั้นเลือดกลับไปที่หัวใจได้ ทำให้เกิดการไหลย้อนของเลือดกลับมาที่ขา นำไปสู่การโป่งพองและคดงอของเส้นเลือดดำที่ขา ซึ่งนอกจากจะไม่สวยงามแล้ว หากปล่อยไว้ให้อาการเป็นมากขึ้น ผู้ป่วยอาจมีภาวะขาข้างนั้นบวมมากขึ้น ปวดขาเป็นๆหายๆ ขามีสีดำคล้ำมากขึ้นกว่าอีกข้าง และหากรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็นแผล ซึ่งหากมีการติดเชื้อซ้ำซ้อนก็อาจนำไปสู่การสูญเสียอวัยวะได้

Varicose vein

 

การวินิจฉัยโรค

                การวินิจฉัยเริ่มจากการตรวจร่างกายโดยแพทย์ โดยตรวจดูขาทั้งสองข้างขณะยืนหรือนั่งเพื่อสังเกตร่วมกับการซักประวัติอาการต่างๆที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น และหากสงสัยว่ามีความผิดปกติ จะทำการตรวจยืนยันด้วยการตรวจอัลตราซาวน์ชนิดพิเศษ (Duplex ultrasound) เพื่อทำการประเมินภาวะความผิดปกติของลิ้นกักเลือด และตรวจหาภาวะแอบแฝงอื่นๆ เช่น การมีลิ่มเลือดอุดตันที่เส้นเลือดชั้นลึกที่ขา (Deep vein thrombosis)

My alt text

การรักษา

1.    การรักษาโดยการรับประทานยา เป็นการรักษาเพื่อลดอาการของโรคที่มีเท่านั้น แต่ไม่สามารถป้องกันไม่ให้ภาวะเส้นเลือดผิดปกติหายขาดได้ จึงใช้เป็นการรักษาร่วมกับวิธีอื่นหรือเพื่อรอระหว่างผ่าตัด

2.    การรักษาโดยการใส่ถุงน่องทางการแพทย์ (Compressive Stocking)  แนะนำให้ใช้ถุงน่องชนิดพิเศษ (Compressive stocking) เพื่อให้เลือดไหลกลับจากส่วนปลายขึ้นมาได้ดี ใช้ลดอาการของโรคร่วมกับการรักษาอื่น

3.    การฉีดสารเคมีที่เส้นเลือดขอด (Sclerosing Therapy) ในผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดขอดขนาดเล็ก เพื่อให้เส้นเลือดที่ฉีดนั้นฝ่อไป

4.    การใช้เลเซอร์ความร้อนหรือคลื่นวิทยุความถี่สูง (Radio Frequency Ablation) เป็นการผ่าตัดชนิดใหม่ โดยใช้หลักการรักษาด้วยการใส่สายขนาดเล็กใส่เข้าไปในหลอดเลือดดำแล้วอาศัยพลังงานจากเลเซอร์หรือคลื่นวิทยุความถี่สูงที่ทำให้เส้นเลือดขอดฝ่อไป โดยแผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กประมาณ  มิลลิเมตร ชึ่งให้ผลการรักษาไม่แตกต่างจากการผ่าตัดแบบปกติ แต่ลดผลแทรกซ้อนและอาการปวดแผลหลังผ่าตัดได้

5.    การผ่าตัด ใช้ในผู้ป่วยที่มีข้อห้ามในการรักษาด้วยการใส่สายเลเซอร์ความร้อนหรือคลื่นวิทยุความถี่สูง หลังผ่าตัดจะพันขาด้วย Elastic Bandage จากนั้นแนะนำให้ใส่ถุงน่องชนิดพิเศษต่อ และแพทย์จะนัดติดตามอาการ 1 - 2 สัปดาห์

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะพบว่า ปัญหาเส้นเลือดขอดจะไม่ร้ายแรงและรักษาได้ผลดี หากใส่ใจและเข้ารับการรักษาโดยเร็ว ดังนั้นเมื่อเป็นเส้นเลือดขอดควรพบแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อทำการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งทางโรงพยาบาลกรุงเทพ อุดร มีแพทย์ผู้ชำนาญการสามารถให้การรักษาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อประสิทธิภาพของการรักษาสูงสุดแก่ผู้ป่วย