เรียบเรียงโดย พญ. กชกร เจริญผลพิบูลย์
แอลคาร์นิทีน (L-Carnitine) คืออะไร?
แอลคาร์นิทีน (L-Carnitine) เป็นสารตัวหนึ่งที่สามารถผลิตจากร่างกาย โดยสร้างที่ตับและไตแล้วนำไปเก็บที่กล้ามเนื้อ แอลคาร์นิทีนประกอบด้วย กรดอะมิโนสองตัวคือ ไลซีน (Lysine) และเมทไทโอนีน (Methionine) โดยปกติแล้วร่างกายสามารถผลิตแอลคาร์นิทีนได้เอง หรือได้จากการรับประทานอาหาร ส่วนมากพบในเนื้อสัตว์ ปลา ผลิตภัณฑ์จากนม ถั่วเหลืองและอะโวคาโด (เหมาะกับคนที่ทานมังสวิรัติ)
แอลคาร์นิทีนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เนื่องจากมีหน้าที่ขนส่งกรดไขมันเข้าสู่เซลล์เพื่อเผาผลาญเป็นพลังงาน ทำให้ลดการสะสมไขมันและเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย จึงมีการนำแอลคาร์นิทีนมาใช้เพื่อจุดประสงค์เรื่องสุขภาพมากขึ้น
ทำไมร่างกายถึงขาดแอลคาร์นิทีน (L-Carnitine)?
การขาดแอลคาร์นิทีน เกิดขึ้นได้ในหลายกรณี เช่น ผู้ที่มีปัญหาเรื่องระบบการย่อยอาหารหรือการดูดซึม หรือในกรณีผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ (Vegan Diet) เนื่องจากแอลคาร์นิทีนพบได้ในอาหารประเภทเนื้อสัตว์เป็นส่วนใหญ่ ( Meat and Animal Product)โดยจะพบในอาหารประเภทพืช (Plant Based)บางประเภทเท่านั้น ได้แก่ ถั่ว งา เมล็ดฟักทอง เมล็ดธัญพืช ขนมปังโฮลวีท แต่มีปริมาณที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับปริมาณในเนื้อสัตว์
รูปแบบของแอลคาร์นิทีน
1. D-Carnitine เป็นแอลคาร์นิทีนรูปแบบทีไม่ออกฤทธิ์ต่อร่างกาย หรือรูปแบบที่ไม่พร้อมใช้งาน (Inactive form)
2. Acetyl L-Carnitine ที่มีประโยชน์ในการบำรุงสมองและช่วยรักษาโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมอง เช่น โรคเสื่อมของระบบประสาท (Neurodegenerative Disease) และ อัลไซเมอร์
3. Propionyl L-Carnitine ช่วยเรื่องระบบไหลเวียนโลหิต (Blood Circulation) และสามารถเพิ่มกรดไนตริกออกไซด์ได้ และใช้ได้ผลในกลุ่มโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดตามแขนขา (Peripheral Vascular Disease)
4. L-Carnitine, L-Tartate ดูดซึมได้รวดเร็ว นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่มนักกีฬา ช่วยเรื่องอาการปวดกล้ามเนื้อ muscle soreness และ การ recover หลังออกกำลังกาย
งานวิจัยกับการรับประทานแอลคาร์นิทีนเสริมพบว่า
จากผลการสำรวจภาวะโรคอ้วน ของ World Obesity 2016 ได้รวบรวม 9 กลุ่มการศึกษา (จำนวนกลุ่มทดลอง 911 กลุ่ม) พบว่าการรับประทานแอลคาร์นิทีนสามารถลดน้ำหนักได้ และสามารถลดค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) ได้เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม
นอกจากนั้นยังมีการศึกษาพบว่าแอลคาร์นิทีนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย จากกลุ่มตัวอย่างที่รับประทานแอลคาร์นิทีน 2 กรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 9 สัปดาห์ เทียบกับผู้ที่ได้ได้รับกลุ่มยาหลอก (Placebo)ที่เชื่อว่าเป็นแอลคาร์นิทีน พบผู้ที่ได้รับประทานแอลคาร์นิทีนมีผลต่อประสิทธิภาพในการออกกำลังกายเพิ่มขึ้น ( Improved Muscle Strength and Anaerobic Performance) และระดับของกรดแลกติกในเลือดลดลงหลังการออกกำลังกาย
มีการศึกษาทดลองให้แอลคาร์นิทีน ในหญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีน้ำหนักตัวเกิน 13 คน เปรียบเทียบกับยาหลอกที่ให้เชื่อว่าเป็นแอลคาร์นิทีน 15 คน ที่ได้รับประทานอาหารเหมือนๆ มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตเหมือนกัน ผลงานวิจัยไม่พบความแตกต่างในดัชนีมวลกาย (BMI) เมื่อเทียบกับงานวิจัยอีกกรณีหนึ่งที่นำหญิงอ้วน 36 ราย โดยให้แอลคาร์นิทีน 4 กรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 60 วัน ให้ผลไม่แตกต่างจากยาหลอก ไม่ว่าจะเป็นผลในเรื่องของน้ำหนักตัวหรือดัชนีมวลกาย (BMI) แม้แต่การเผาผลาญไขมัน จากการศึกษาดังกล่าว พบว่า L-Carnitine นั้นมีส่วนช่วยในการลดความอ้วนจริง แต่น้อยมาก แต่ก็ยังมีอีกหลายการศึกษาที่แนะนำให้รับประทานวันละอย่างน้อย 500 มิลลิกรัมต่อวัน จึงจะมีส่วนช่วยในการเผาผลาญไขมันได้ ประสิทธิภาพสูงสุดหากใช้ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย โดยออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยวันละ 40-50 นาทีขึ้นไป จึงจะสลายไขมันได้อย่างแท้จริง
ผลข้างเคียง
ปกติแล้วแอลคาร์นิทีนเป็นสารที่มีความปลอดภัย และมีปฏิกิริยาข้างเคียงจากการรับประทานน้อยมากแต่อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาพบว่าการทาน แอลคาร์นิทีนมากเกินไป โดยปริมาณตั้งแต่ 5000 มิลลิกรัม ต่อวัน หรือมากกว่าอาจทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้อาเจียน อาการข้างเคียงอื่นๆที่อาจะพบได้เช่น ผื่นแดง มีกลิ่นตัว เพิ่มความอยากอาหาร เนื่องจากแอลคาร์นิทีนเป็นสารที่พบอยู่ในอาหารประจำวันอยู่บ้างแล้วการรับประทานเพิ่มอาจต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อความปลอดภัย
หมายเหตุ
Placebo หรือภาษาไทยใช้คำว่า “ยาหลอก” คือ แป้ง น้ำตาล หรือสารอะไรก็ได้ ที่โดยตัวมันเอง แล้วไม่ใช่ยา และไม่ได้มีผลทางการรักษาใดๆ แต่นำมาทำให้ดูเหมือนเป็นยา (และคนที่ใช้ก็เข้าใจว่าเป็นยาจริงๆ) ส่วนผลของยาหลอก (Placebo Effect) คือ การที่ผู้ป่วยสามารถถูกกระตุ้นให้หายหรืออาการดีขึ้นได้ จากการเชื่อว่าพวกเขากำลังได้รับการรักษาจริงๆ
อ้างอิง
Fathizadeh, Hadis & Milajerdi, Alireza & Reiner, Zeljko & Kolahdooz, Fariba & Asemi, Zatollah. (2019). The effects of L-carnitine supplementation on glycemic control: a systematic review and meta-analysis of randomized controlled trials. EXCLI journal. 18. 631-643. 10.17179/excli2019-1447.
Koozehchian, M. S., Daneshfar, A., Fallah, E., Agha-Alinejad, H., Samadi, M., Kaviani, M., … Kreider, R. B. (2018). Effects of nine weeks L-Carnitine supplementation on exercise performance, anaerobic power, and exercise-induced oxidative stress in resistance-trained males. Journal of exercise nutrition & biochemistry, 22(4), 7–19. doi:10.20463/jenb.2018.002
Pouyandjoo, Morvarid & Nouhi, Mojtaba & Shab Bidar, Sakineh & Djafarian, Kurosh & Olyaeemanesh, Alireza. (2016). The effect of (L-)Carnitine on weight loss in adults: A systematic review and meta-analysis of randomized controlled trials. Obesity Reviews. 17. 10.1111/obr.12436.
Traina, Giovanna. (2016). The neurobiology of acetyl-L-carnitine. Frontiers in Bioscience. 21. 1314-1329. 10.2741/4459.